วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นิทานอีสปพร้อมภาพประกอบเรื่อง "ปูทะเลกับหมาจิ้งจอก"

นิทานอีสป ปูทะเลกับหมาจิ้งจอก

ปูทะเลกับหมาจิ้งจอก
ปูทะเลกับหมาจิ้งจอก

        ปูทะเลตัวหนึ่งเบื่ออาหารใต้ท้องทะเล  จึงเดินขึ้นมาหากินบนชายหาด  หมาจิ้งจอกหิวโซตัวหนึ่งเดินเลาะเลียบหาดหาเหยื่อมาหลายวัน  เมื่อเห็นปูทะเลตัวใหญ่ก็ดีใจตรงเข้าตะปบจับไว้ทันที
        ปูทะเลโชคร้ายจึงรำพึงอย่างเศร้าใจว่า  "โธ่เอ๊ย  ไม่น่ารนหาที่  ขึ้นมาอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่เลยเรา".

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
        "การละทิ้งสิ่งที่ดีงามเหมาะสมกับตนเอง  อาจนำภัยมาถึงตัว"



ที่มา : 101 เรื่องเอกนิทานอีสป


วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของคำพังเพย "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"

คำพังเพย "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"

กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้

        คำพังเพย  "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"  มีความหมายว่า  การทำงานที่ลังเล  ไม่ยอมตัดสินใจสักที  ไม่กล้าตัดสินใจ  หรือมัวแต่ลังเลใจ  จนทำให้งานเสียหาย  ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันการณ์  เมื่อได้อย่างหนึ่งแล้ว  กลับต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป  ไม่มีการวางแผนที่เป็นระบบ
        ที่มาของคำพังเพย  กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้  มาจากการที่เราคั่วถั่วและงาในกระทะเดียวกัน  วัตถุดิบสองอย่างนี้มีการสุกที่แตกต่างกัน  ถั่วจะสุกช้า  ในขณะที่งาจะสุกไวมาก  หากมัวรอให้ถั่วสุก  งาที่คั่วไปพร้อมถั่วก็ไหม้เสียแล้วนั่นเอง
        ตัวอย่างการนำไปใช้งาน  "ปัญหายาเสพติดในโรงเรียนเป็นปัญหารุนแรง  น่าจะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้  ไม่ใช่มัวแต่รอให้ครูสอนนักเรียนให้ตระหนักเรื่องโทษภัยของยาเสพติด  ถ้ารอขนาดนั้นเด็กก็อาจจะติดยาไปกันหมดแล้ว กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"



วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของสำนวนไทย "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"

สำนวนไทย "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

        สำนวนไทย เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  มีความหมายว่า เห็นสิ่งที่ผิดเป็นชอบ หรือ เห็นสิ่งที่ไม่ดีกลายเป็นดี  เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  สำนวนนี้มักจะใช้กับคนที่ชอบทำในสิ่งที่ชั่วร้าย  แต่เข้าใจไปเองว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ชอบธรรม
        การเปรียบเทียบคำว่า "กงจักร" เป็นสิ่งไม่ดี  และ "ดอกบัว" เป็นสิ่งดี นั้น ได้เค้าโครงมาจากนิทานชาดกเรื่อง มิตตวินทุกชาดก  ชาดกเกี่ยวกับลูกเศรษฐี ชาวเมือง พาราณสี  ที่มีนิสัยชั่วช้า ไม่เชื่อฟังคำพ่อแม่
        ครั้นเมื่อพ่อตายเหลือแต่แม่  แม่พยายามสอนให้ มิตวินทุกะ เล่าเรียน  ขยันทำงาน  แต่ มิตวินทุกะ กลับรำคาญแม่  ด่าว่าแม่เลอะเลือน
        อยู่มาวันหนึ่ง มิตวินทุกะ เกิดมีความคิดที่จะทำการค้าขาย  จึงเตรียมเรือเพื่อที่จะออกทะเล  เมื่อแม่มาเห็น  แม่ก็ร้องห้ามบอกว่าอย่าไป  เพราะเกรงว่าลูกจะเป็นอะไรไประหว่างที่ล่องเรือกลางทะเล  แต่ มิตวินทุกะ ก็ไม่ฟังพร้อมทั้งตระโกนว่า หลบให้พ้น  ข้าไม่ฟังอะไรทั้งนั้น  พลันกระโดดถีบแม่แล้วรีบลงเรือออกไป
        เรือออกเดินทางมาได้เพียงหกวันก็พลันเกิดเหตุการณ์เรือสะดุด  ไม่สามารถไปต่อได้  กัปตันเรือเองก็จนใจไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร  จึงเกิดความคิดว่าต้องมีตัวกาลกิณีอยู่ในเรือเราแน่นอน  พอคิดได้ดังนั้นจึงเรียกทุกคนมารวมแล้วทำการจับสลาก  โดยที่บากไม้ไว้อันหนึ่งเป็นสัญลักษณ์
        เมื่อแต่ละคนเรียงหน้ากันเข้ามาจับไม้ไปทีละคนๆ ก็พลันถึง มิตวินทุกะ ที่ซวยจับได้ไม้ที่บากเอาไว้  ถึงแม้ว่าจะจับใหม่สักกี่ครั้งก็ไม่พ้นความซวยนี้  ทุกคนพากันโล่งอก  และตกลงใจที่จะจับมันใส่แพลอยออกไป  ก่อนที่จะออกเรือต่อ
        แพลำน้อยลอยไปอย่างไร้ทิศทาง  ลอยไปติดเกาะผี ผีก็หลอกเอา  โดยสร้างปราสาทไว้  ด้วยความที่ มิตวินทุกะ ล่องแพมาด้วยความหิวโหย  จึงเข้าไปในปราสาท  ปรากฎว่าเจอหญิงงามในปราสาท มิตวินทุกะ จึงเสพกามจนร่างกายซูบผอม  จนแทบจะตาย  แต่ด้วยความโลภ มองไปเห็นปราสาทอีกหลังเป็นปราสาทแก้วจึงเดินเข้าไป
        หารู้ไม่ที่แห่งนี้คือนรกภูมิที่โดนผีเปตรลวงว่าสวยดั่งสวงสวรรค์  มิตวินทุกะ จึงเดินเข้าไปอย่างไม่รีรอ  ด้วยกรรมที่เคยตบตีมารดาไว้  ทำให้มองเห็นกงจักรที่หมุนอยู่บนหัวผีเปตรเป็นชุดดอกบัวสวยงาม  มิตวินทุกะ จึงเข้าไปแย่งมาเป็นของตนและสวมเข้าไปที่หัว  ทำให้กงจักรหมุนรอบหัวตนเอง  สร้างความทุกข์ทรมาณ  ร้องระงมด้วยความเจ็บปวด  นี่ถือเป็นการชดใช้กรรมที่ได้ทำมา
        นี่คือที่มาของสำนวนไทยที่ว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว" คนชั่วมักจะมองเห็นสิ่งเลวร้ายเป็นของสวยงาม  ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ผิด



วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของสำนวนไทย "ยืนกระต่ายสามขา" หรือ "ยืนกระต่ายขาเดียว"

สำนวนไทย "ยืนกระต่ายสามขา" หรือ "ยืนกระต่ายขาเดียว"

ยืนกระต่ายขาเดียว
ยืนกระต่ายขาเดียว

        สำนวนนี้คนมักจะใช้กันผิดบ่อยครั้งเป็น  ยืนกระต่ายขาเดียว  แต่จริงๆ แล้วนั้นสำนวนนี้ที่ถูกต้องคือ  ยืนกระต่ายสามขา  สำนวนนี้มีความหมายว่า  พูดยืนยันอยู่คำเดียว  โดยไม่เปลี่ยนคำพูด ความคิดเดิม  เถียงข้างๆ คูๆ  ยึดติดกับคำพูดนั้นเป็นการยืนกระต่ายสามขา
        ที่มาที่ไปของสำนวนไทย  ยืนกระต่ายสามขา  เกิดจากนิทานเรื่องหนึ่ง  เกี่ยวกับหลวงตากับเด็กวัดที่ว่า
        กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในป่าห่างไกลจากหมู่บ้าน  มีเด็กวัดอยู่คนหนึ่งมีหน้าที่ออกหาอาหารเพื่อนำมาทำให้พระฉัน  วันหนึ่งเกิดนึกอยากจะเอาใจหลวงตาจึงเข้าป่าล่าสัตว์ได้กระต่ายมาตัวหนึ่ง  จึงทำการย่างกระต่าย  แต่กลิ่นของกระต่ายย่างนั้นช่างเย้ายวนใจ ยั่วยวนน้ำลายยิ่งนัก  เด็กวัดจึงอดใจไม่ไหวฉีกขากระต่ายย่างออกมากินข้างหนึ่ง
        เมื่อเด็กวัดนำกระต่ายย่างไปถวายเพื่อให้หลวงตาฉันเพล  หลวงตาสังเกตเห็นกระต่ายเหลือเพียงสามขา  จึงสอบถามว่าใครแอบกินกระต่ายย่างไปขาหนึ่ง
        เด็กวัดจึงตอบว่ากระต่ายตัวนี้นั้นแต่เดิมมีอยู่สามขาอยู่แล้ว   ถึงแม้หลวงตาจะซักไซร้ ไล่เรียง สักเพียงใดเด็กวัดก็ยืนยันว่า กระต่ายตัวนี้มีเพียงสามขา  และตนไม่ได้แอบกินจริงๆ จนหลวงตาต้องยอมแพ้
        ทั้งหมดทั้งปวงนี้จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า  ยืนกระต่ายสามขา
        ส่วน ยืนกระต่ายขาเดียว นั้นเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่ผู้ไล่จับต้องกระโดดด้วยขาข้างเดียวเพื่อไล่จับอีกฝ่าย  ถ้าไล่จับอีกฝ่ายได้  ผู้เล่นอีกฝ่ายต้องยืนขาเดียวแล้วกระโดดไล่จับแทน  มันจึงเป็นที่มาของความเข้าใจผิดในสำนวนนี้



วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของสำนวน สุภาษิต คำพังเพย "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
ขี่ช้างจับตั๊กแตน

        สำนวน สุภาษิต คำพังเพย นี้หมายถึง  การที่เราลงทุนลงแรงไปเป็นจำนวนมาก  เพื่อกระทำในสิ่งที่ได้ผลตอบแทนน้อย  เปรียบเสมือนกับการขี่ช้างตัวใหญ่  เพื่อที่จะไปไล่จับตั๊กแตนตัวเล็กๆ นั่นเอง
        โดยทั่วไปแล้วการจับตั๊กแตนนั้นแค่เดินจับเฉยๆ ก็ย่อมได้  ไม่จำเป็นต้องขี่ช้างเลย  การที่ขี่ช้างเพื่อไปจับตั๊กแตนนั้นดูจะไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับเลยสักนิด
        สำนวนสุภาษิตนี้นั้นสามารถใช้ได้หลากหลายสถานการณ์  ดังตัวอย่างที่จะยกมาให้ได้รับชมกันดังต่อไปนี้
        "ย่าแย้มมีหลานชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวชื่อยงยุทธ  เมื่อครั้งที่ยงยุทธมีอายุเข้าวัยเบญจเพสสมควรแก่การบวชเป็นพระ  ด้วยความที่ว่าแกรักหลานชายคนนี้เป็นอย่างมาก  จึงลงทุนจัดงานเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่  จ้างนักร้อง วงดนตรีชื่อดังระดับประเทศมาแสดง  จ้างหนังมาฉายทั้งวันทั้งคืน  มีการเลี้ยงโต๊ะจีนอย่างยิ่งใหญ่  ทั้งๆที่หลายชายของแกนั้นบวชเพียงแค่ 7วันเท่านั้น..."



วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คำพังเพย คืออะไร?

คำพังเพย คืออะไร?

คำพังเพย
คำพังเพย

        คำพังเพย  เป็นการกล่าวเปรียบเทียบแบบอุปมา ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  มีที่มาจากการกล่าวสืบต่อกันมาอย่างช้านาน  ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนรุ่นก่อนๆ โดยทั่วไปจะมีความหมายแฝงอยู่ และมีลักษณะคล้ายกับสุภาษิต  คำพังเพยจะมีถ้อยคำที่คล้องจอง  ไม่ได้เน้นไปที่การสอนหรือให้คติสอนใจอย่างสุภาษิต  แต่คำพังเพยจะเป็นการกล่าวเปรียบเปรยหรืออาจกล่าวกระทบเสียดสีก็ได้
        ตัวอย่างคำพังเพย
        กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี  คำนี้เป็นคำพังเพยที่คนคงจะคุ้นหูคุ้นตากันไม่น้อย  หลายคนคงจะเคยเรียนประวัติศาสตร์และทราบกันดีอยู่แล้วว่า กรุงศรีอยุธยา เคยเป็นเมืองหลวงของไทยเรามาก่อน  มีประวัติศาสตร์การสู้รบที่ยาวนานกับประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้งหลายคราจนแทบจะนับครั้งไม่ถ้วน  และไม่ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะวุ่นวายมากสักเพียงใดก็จะมีวีรบุรุษ วีรสตรีลุกขึ้นมาปกป้องแผ่นดินในแทบทุกครา  ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย เป็นต้น
        กลิ้งครกขึ้นภูเขา  คำนี้หลายๆ คนจะคุ้นกันกับคำว่า "เข็นครกขึ้นภูเขา" แต่จริงๆ แล้วนั้นไม่ถูกต้อง  เพราะครกมีลักษณะที่กลม  ต้องล้มครกลงแล้ว "กลิ้ง" มิใช่ "เข็น" แต่อย่างใด  คำพังเพยคำนี้มีความหมายว่า เรื่องที่ได้รับมอบหมายหรือตั้งใจที่จะทำนั้นทำได้ยากลำบาก  แต่ก็ทำได้สำเร็จ  ต้องใช้ความพยายามและความสามารถในการทำ  เปรียบเสมือนกับการ กลิ้งครกขึ้นภูเขานั่นเอง



วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นิทานอีสปพร้อมภาพประกอบเรื่อง "หมาป่ากับฝูงแกะ"

นิทานอีสป หมาป่ากับฝูงแกะ

หมาป่ากับฝูงแกะ
หมาป่ากับฝูงแกะ

        แกะฝูงหนึ่งอาศัยอยู่อย่างสงบสุขมานาน  เพราะมีหมาเลี้ยงแกะคอยเฝ้าดูแลระวังภัยให้  ต่อมามีหมาป่าฝูงหนึ่งหวังจะจับแกะกิน  จึงคิดอุบายส่งตัวแทนไปเจรจาสงบศึกกับฝูงแกะ
        "ข้าว่าพวกเรามาเป็นเพื่อนกันดีกว่า  ฝ่ายข้าจะส่งลูกหมาป่าให้พวกเจ้าจับไว้เป็นตัวประกันเพื่อรับรองความปลอดภัย  ส่วนพวกเจ้าก็ส่งหมาเลี้ยงแกะมาให้พวกข้าดีไหม  พวกเราจะได้ปรองดองกันเสียที"
        ฝูงแกะพากันหลงเชื่อเห็นดีด้วย  ส่งหมาเลี้ยงแกะให้หมาป่าไปโดยไม่ยั้งคิด  ฝูงหมาป่าก็แสยะยิ้มแยกเขี้ยว
        "เจ้าพวกแกะโง่เอ๊ย!  คิดหรือว่าพวกข้าอยากเป็นเพื่อนกับพวกเจ้าจริงๆ  ยังไงเจ้าก็เป็นอาหารของพวกข้าอยู่วันยังค่ำ"  หมาป่าพูดจบก็กระโจนเข้าขย้ำแกะกินจนหมดฝูง.

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
        "ยากที่ศัตรูร้ายจะกลับกลายเป็นมิตรที่ดีได้"



ที่มา : 101 เรื่องเอกนิทานอีสป