ความหมายและการแยกแยะ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
![]() |
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย |
สำนวน หมายถึง คำกล่าวสั้นๆ กระชับรัดกุม แต่ไม่มีความหมายตรงตามตัวอักษร จะมีความหมายแปลกไปจากความหมายเดิมที่ใช้กันเป็นปกติในวัฒนธรรม
เช่น
จูงจมูก หมายถึง ยอมให้คนอื่นพาไปทางไหน ทำอะไรก็ได้
ต่อยหอย หมายถึง พูดไม่หยุดปาก
ถอยหลังเข้าคลอง หมายถึง ถอยกลับไปสู่ยุคเก่าหรือแบบเก่า
สุภาษิต หมายถึง ข้อความสั้นๆ กะทัดรัด แต่มีความหมายชัดเจนลึกซึ้ง มีคติสอนใจ หรือให้ความจริงเกี่ยวกับคววามคิดและแนวปฏิบัติ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้และเชื่อถือได้
เช่น
แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร หมายถึง การยอมคู่กรณีเพื่อไม่ให้มีเรื่องราวใหญ่โต แต่ถ้าหากไม่ยอมแพ้ก็จะมีปัญหาและเรื่องราวอาจจะบานปลาย
น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ หมายถึง อย่าทำอะไรที่เป็นการขัดขวาง ขัดอารมณ์ของผู้มีอำนาจหรือ ขัดขวางในสิ่งที่กำลังมีความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตรายได้
คำพังเพย มีลักษณะคล้ายสุภาษิตและเกือบเป็นสุภาษิต แต่ไม่ได้สอนใจหรือให้ความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้โดยตรง เป็นคำกล่าวที่มีลักษณะติชม แสดงความเห็นอยู่ในตัว
เช่น
ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น หมายถึง การที่ดูเหมือนว่าจะมีความละเอียดรอบคอบดีแล้ว แต่ความจริงยังมีช่องโหว่ที่เป็นอันตรายที่ยังต้องแก้ไขต่อเพื่อป้องกันความเสี่ยงอีก
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมายถึง การกระทำที่มีการลงทุน ลงแรงไปจำนวนมากแต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมามีผลเล็กน้อยมากหรือแทบไม่มีประโยชน์ใดๆ
ถึงแม้จะสามารถแยกว่าคำไหนเป็น สำนวน สุภาษิต คำพังเพย แต่ในทางปฏบัติจริงแล้วนั้นมีปัญหามาก เพราะข้อความหรือคำกล่าวเช่นนี้มีจำนวนมากและมีลักษณะคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างสำนวน สุภาษิต คำพังเพย จนไม่อาจตัดสินเด็ดขาดว่าอยู่ในประเภทไหน
เช่น
น้ำขึ้นให้รีบตัก (เป็นสำนวน เพราะความหมายไม่ตรงตามอักษร เป็นคำพังเพย เพราะกล่าวติชมแสดงความเห็นเกี่ยวกับคนที่ฉวยโอกาส เป็นสุภาษิต เพราะให้คติสอนใจว่า เมื่อมีโอกาส จงรีบทำกิจการให้ได้รับผลสำเร็จ)
น้ำลดตอผุด (เป็นสำนวน เพราะความหมายไม่ตรงตามอักษร เป็นคำพังเพย กล่าวติหรือเย้ยหยัน คนทำชั่วที่ความชั่วนั้นได้ปรากฏขึ้น เป็นสุภาษิต เพราะ สอนความจริงที่ว่า ความชั่ว ความผิดพลาดนั้น ไม่สามารถปิดบังได้ตลอดไป)
เพราะเหตุนี้จะไม่เน้นความสามารถในการแยกประเภทแต่จะเน้นความหมาย เพื่อจะนำไปใช้ได้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ