สำนวนไทย "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"
![]() |
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว |
การเปรียบเทียบคำว่า "กงจักร" เป็นสิ่งไม่ดี และ "ดอกบัว" เป็นสิ่งดี นั้น ได้เค้าโครงมาจากนิทานชาดกเรื่อง มิตตวินทุกชาดก ชาดกเกี่ยวกับลูกเศรษฐี ชาวเมือง พาราณสี ที่มีนิสัยชั่วช้า ไม่เชื่อฟังคำพ่อแม่
ครั้นเมื่อพ่อตายเหลือแต่แม่ แม่พยายามสอนให้ มิตวินทุกะ เล่าเรียน ขยันทำงาน แต่ มิตวินทุกะ กลับรำคาญแม่ ด่าว่าแม่เลอะเลือน
อยู่มาวันหนึ่ง มิตวินทุกะ เกิดมีความคิดที่จะทำการค้าขาย จึงเตรียมเรือเพื่อที่จะออกทะเล เมื่อแม่มาเห็น แม่ก็ร้องห้ามบอกว่าอย่าไป เพราะเกรงว่าลูกจะเป็นอะไรไประหว่างที่ล่องเรือกลางทะเล แต่ มิตวินทุกะ ก็ไม่ฟังพร้อมทั้งตระโกนว่า หลบให้พ้น ข้าไม่ฟังอะไรทั้งนั้น พลันกระโดดถีบแม่แล้วรีบลงเรือออกไป
เรือออกเดินทางมาได้เพียงหกวันก็พลันเกิดเหตุการณ์เรือสะดุด ไม่สามารถไปต่อได้ กัปตันเรือเองก็จนใจไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร จึงเกิดความคิดว่าต้องมีตัวกาลกิณีอยู่ในเรือเราแน่นอน พอคิดได้ดังนั้นจึงเรียกทุกคนมารวมแล้วทำการจับสลาก โดยที่บากไม้ไว้อันหนึ่งเป็นสัญลักษณ์
เมื่อแต่ละคนเรียงหน้ากันเข้ามาจับไม้ไปทีละคนๆ ก็พลันถึง มิตวินทุกะ ที่ซวยจับได้ไม้ที่บากเอาไว้ ถึงแม้ว่าจะจับใหม่สักกี่ครั้งก็ไม่พ้นความซวยนี้ ทุกคนพากันโล่งอก และตกลงใจที่จะจับมันใส่แพลอยออกไป ก่อนที่จะออกเรือต่อ
แพลำน้อยลอยไปอย่างไร้ทิศทาง ลอยไปติดเกาะผี ผีก็หลอกเอา โดยสร้างปราสาทไว้ ด้วยความที่ มิตวินทุกะ ล่องแพมาด้วยความหิวโหย จึงเข้าไปในปราสาท ปรากฎว่าเจอหญิงงามในปราสาท มิตวินทุกะ จึงเสพกามจนร่างกายซูบผอม จนแทบจะตาย แต่ด้วยความโลภ มองไปเห็นปราสาทอีกหลังเป็นปราสาทแก้วจึงเดินเข้าไป
หารู้ไม่ที่แห่งนี้คือนรกภูมิที่โดนผีเปตรลวงว่าสวยดั่งสวงสวรรค์ มิตวินทุกะ จึงเดินเข้าไปอย่างไม่รีรอ ด้วยกรรมที่เคยตบตีมารดาไว้ ทำให้มองเห็นกงจักรที่หมุนอยู่บนหัวผีเปตรเป็นชุดดอกบัวสวยงาม มิตวินทุกะ จึงเข้าไปแย่งมาเป็นของตนและสวมเข้าไปที่หัว ทำให้กงจักรหมุนรอบหัวตนเอง สร้างความทุกข์ทรมาณ ร้องระงมด้วยความเจ็บปวด นี่ถือเป็นการชดใช้กรรมที่ได้ทำมา
นี่คือที่มาของสำนวนไทยที่ว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว" คนชั่วมักจะมองเห็นสิ่งเลวร้ายเป็นของสวยงาม ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ผิด