วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นิทานอีสปพร้อมภาพประกอบเรื่อง "ปูทะเลกับหมาจิ้งจอก"

นิทานอีสป ปูทะเลกับหมาจิ้งจอก

ปูทะเลกับหมาจิ้งจอก
ปูทะเลกับหมาจิ้งจอก

        ปูทะเลตัวหนึ่งเบื่ออาหารใต้ท้องทะเล  จึงเดินขึ้นมาหากินบนชายหาด  หมาจิ้งจอกหิวโซตัวหนึ่งเดินเลาะเลียบหาดหาเหยื่อมาหลายวัน  เมื่อเห็นปูทะเลตัวใหญ่ก็ดีใจตรงเข้าตะปบจับไว้ทันที
        ปูทะเลโชคร้ายจึงรำพึงอย่างเศร้าใจว่า  "โธ่เอ๊ย  ไม่น่ารนหาที่  ขึ้นมาอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่เลยเรา".

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
        "การละทิ้งสิ่งที่ดีงามเหมาะสมกับตนเอง  อาจนำภัยมาถึงตัว"



ที่มา : 101 เรื่องเอกนิทานอีสป


วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของคำพังเพย "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"

คำพังเพย "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"

กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้

        คำพังเพย  "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"  มีความหมายว่า  การทำงานที่ลังเล  ไม่ยอมตัดสินใจสักที  ไม่กล้าตัดสินใจ  หรือมัวแต่ลังเลใจ  จนทำให้งานเสียหาย  ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันการณ์  เมื่อได้อย่างหนึ่งแล้ว  กลับต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป  ไม่มีการวางแผนที่เป็นระบบ
        ที่มาของคำพังเพย  กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้  มาจากการที่เราคั่วถั่วและงาในกระทะเดียวกัน  วัตถุดิบสองอย่างนี้มีการสุกที่แตกต่างกัน  ถั่วจะสุกช้า  ในขณะที่งาจะสุกไวมาก  หากมัวรอให้ถั่วสุก  งาที่คั่วไปพร้อมถั่วก็ไหม้เสียแล้วนั่นเอง
        ตัวอย่างการนำไปใช้งาน  "ปัญหายาเสพติดในโรงเรียนเป็นปัญหารุนแรง  น่าจะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้  ไม่ใช่มัวแต่รอให้ครูสอนนักเรียนให้ตระหนักเรื่องโทษภัยของยาเสพติด  ถ้ารอขนาดนั้นเด็กก็อาจจะติดยาไปกันหมดแล้ว กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"



วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของสำนวนไทย "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"

สำนวนไทย "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

        สำนวนไทย เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  มีความหมายว่า เห็นสิ่งที่ผิดเป็นชอบ หรือ เห็นสิ่งที่ไม่ดีกลายเป็นดี  เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  สำนวนนี้มักจะใช้กับคนที่ชอบทำในสิ่งที่ชั่วร้าย  แต่เข้าใจไปเองว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ชอบธรรม
        การเปรียบเทียบคำว่า "กงจักร" เป็นสิ่งไม่ดี  และ "ดอกบัว" เป็นสิ่งดี นั้น ได้เค้าโครงมาจากนิทานชาดกเรื่อง มิตตวินทุกชาดก  ชาดกเกี่ยวกับลูกเศรษฐี ชาวเมือง พาราณสี  ที่มีนิสัยชั่วช้า ไม่เชื่อฟังคำพ่อแม่
        ครั้นเมื่อพ่อตายเหลือแต่แม่  แม่พยายามสอนให้ มิตวินทุกะ เล่าเรียน  ขยันทำงาน  แต่ มิตวินทุกะ กลับรำคาญแม่  ด่าว่าแม่เลอะเลือน
        อยู่มาวันหนึ่ง มิตวินทุกะ เกิดมีความคิดที่จะทำการค้าขาย  จึงเตรียมเรือเพื่อที่จะออกทะเล  เมื่อแม่มาเห็น  แม่ก็ร้องห้ามบอกว่าอย่าไป  เพราะเกรงว่าลูกจะเป็นอะไรไประหว่างที่ล่องเรือกลางทะเล  แต่ มิตวินทุกะ ก็ไม่ฟังพร้อมทั้งตระโกนว่า หลบให้พ้น  ข้าไม่ฟังอะไรทั้งนั้น  พลันกระโดดถีบแม่แล้วรีบลงเรือออกไป
        เรือออกเดินทางมาได้เพียงหกวันก็พลันเกิดเหตุการณ์เรือสะดุด  ไม่สามารถไปต่อได้  กัปตันเรือเองก็จนใจไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร  จึงเกิดความคิดว่าต้องมีตัวกาลกิณีอยู่ในเรือเราแน่นอน  พอคิดได้ดังนั้นจึงเรียกทุกคนมารวมแล้วทำการจับสลาก  โดยที่บากไม้ไว้อันหนึ่งเป็นสัญลักษณ์
        เมื่อแต่ละคนเรียงหน้ากันเข้ามาจับไม้ไปทีละคนๆ ก็พลันถึง มิตวินทุกะ ที่ซวยจับได้ไม้ที่บากเอาไว้  ถึงแม้ว่าจะจับใหม่สักกี่ครั้งก็ไม่พ้นความซวยนี้  ทุกคนพากันโล่งอก  และตกลงใจที่จะจับมันใส่แพลอยออกไป  ก่อนที่จะออกเรือต่อ
        แพลำน้อยลอยไปอย่างไร้ทิศทาง  ลอยไปติดเกาะผี ผีก็หลอกเอา  โดยสร้างปราสาทไว้  ด้วยความที่ มิตวินทุกะ ล่องแพมาด้วยความหิวโหย  จึงเข้าไปในปราสาท  ปรากฎว่าเจอหญิงงามในปราสาท มิตวินทุกะ จึงเสพกามจนร่างกายซูบผอม  จนแทบจะตาย  แต่ด้วยความโลภ มองไปเห็นปราสาทอีกหลังเป็นปราสาทแก้วจึงเดินเข้าไป
        หารู้ไม่ที่แห่งนี้คือนรกภูมิที่โดนผีเปตรลวงว่าสวยดั่งสวงสวรรค์  มิตวินทุกะ จึงเดินเข้าไปอย่างไม่รีรอ  ด้วยกรรมที่เคยตบตีมารดาไว้  ทำให้มองเห็นกงจักรที่หมุนอยู่บนหัวผีเปตรเป็นชุดดอกบัวสวยงาม  มิตวินทุกะ จึงเข้าไปแย่งมาเป็นของตนและสวมเข้าไปที่หัว  ทำให้กงจักรหมุนรอบหัวตนเอง  สร้างความทุกข์ทรมาณ  ร้องระงมด้วยความเจ็บปวด  นี่ถือเป็นการชดใช้กรรมที่ได้ทำมา
        นี่คือที่มาของสำนวนไทยที่ว่า "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว" คนชั่วมักจะมองเห็นสิ่งเลวร้ายเป็นของสวยงาม  ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ผิด



วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของสำนวนไทย "ยืนกระต่ายสามขา" หรือ "ยืนกระต่ายขาเดียว"

สำนวนไทย "ยืนกระต่ายสามขา" หรือ "ยืนกระต่ายขาเดียว"

ยืนกระต่ายขาเดียว
ยืนกระต่ายขาเดียว

        สำนวนนี้คนมักจะใช้กันผิดบ่อยครั้งเป็น  ยืนกระต่ายขาเดียว  แต่จริงๆ แล้วนั้นสำนวนนี้ที่ถูกต้องคือ  ยืนกระต่ายสามขา  สำนวนนี้มีความหมายว่า  พูดยืนยันอยู่คำเดียว  โดยไม่เปลี่ยนคำพูด ความคิดเดิม  เถียงข้างๆ คูๆ  ยึดติดกับคำพูดนั้นเป็นการยืนกระต่ายสามขา
        ที่มาที่ไปของสำนวนไทย  ยืนกระต่ายสามขา  เกิดจากนิทานเรื่องหนึ่ง  เกี่ยวกับหลวงตากับเด็กวัดที่ว่า
        กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในป่าห่างไกลจากหมู่บ้าน  มีเด็กวัดอยู่คนหนึ่งมีหน้าที่ออกหาอาหารเพื่อนำมาทำให้พระฉัน  วันหนึ่งเกิดนึกอยากจะเอาใจหลวงตาจึงเข้าป่าล่าสัตว์ได้กระต่ายมาตัวหนึ่ง  จึงทำการย่างกระต่าย  แต่กลิ่นของกระต่ายย่างนั้นช่างเย้ายวนใจ ยั่วยวนน้ำลายยิ่งนัก  เด็กวัดจึงอดใจไม่ไหวฉีกขากระต่ายย่างออกมากินข้างหนึ่ง
        เมื่อเด็กวัดนำกระต่ายย่างไปถวายเพื่อให้หลวงตาฉันเพล  หลวงตาสังเกตเห็นกระต่ายเหลือเพียงสามขา  จึงสอบถามว่าใครแอบกินกระต่ายย่างไปขาหนึ่ง
        เด็กวัดจึงตอบว่ากระต่ายตัวนี้นั้นแต่เดิมมีอยู่สามขาอยู่แล้ว   ถึงแม้หลวงตาจะซักไซร้ ไล่เรียง สักเพียงใดเด็กวัดก็ยืนยันว่า กระต่ายตัวนี้มีเพียงสามขา  และตนไม่ได้แอบกินจริงๆ จนหลวงตาต้องยอมแพ้
        ทั้งหมดทั้งปวงนี้จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า  ยืนกระต่ายสามขา
        ส่วน ยืนกระต่ายขาเดียว นั้นเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่ผู้ไล่จับต้องกระโดดด้วยขาข้างเดียวเพื่อไล่จับอีกฝ่าย  ถ้าไล่จับอีกฝ่ายได้  ผู้เล่นอีกฝ่ายต้องยืนขาเดียวแล้วกระโดดไล่จับแทน  มันจึงเป็นที่มาของความเข้าใจผิดในสำนวนนี้



วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของสำนวน สุภาษิต คำพังเพย "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
ขี่ช้างจับตั๊กแตน

        สำนวน สุภาษิต คำพังเพย นี้หมายถึง  การที่เราลงทุนลงแรงไปเป็นจำนวนมาก  เพื่อกระทำในสิ่งที่ได้ผลตอบแทนน้อย  เปรียบเสมือนกับการขี่ช้างตัวใหญ่  เพื่อที่จะไปไล่จับตั๊กแตนตัวเล็กๆ นั่นเอง
        โดยทั่วไปแล้วการจับตั๊กแตนนั้นแค่เดินจับเฉยๆ ก็ย่อมได้  ไม่จำเป็นต้องขี่ช้างเลย  การที่ขี่ช้างเพื่อไปจับตั๊กแตนนั้นดูจะไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับเลยสักนิด
        สำนวนสุภาษิตนี้นั้นสามารถใช้ได้หลากหลายสถานการณ์  ดังตัวอย่างที่จะยกมาให้ได้รับชมกันดังต่อไปนี้
        "ย่าแย้มมีหลานชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวชื่อยงยุทธ  เมื่อครั้งที่ยงยุทธมีอายุเข้าวัยเบญจเพสสมควรแก่การบวชเป็นพระ  ด้วยความที่ว่าแกรักหลานชายคนนี้เป็นอย่างมาก  จึงลงทุนจัดงานเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่  จ้างนักร้อง วงดนตรีชื่อดังระดับประเทศมาแสดง  จ้างหนังมาฉายทั้งวันทั้งคืน  มีการเลี้ยงโต๊ะจีนอย่างยิ่งใหญ่  ทั้งๆที่หลายชายของแกนั้นบวชเพียงแค่ 7วันเท่านั้น..."



วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คำพังเพย คืออะไร?

คำพังเพย คืออะไร?

คำพังเพย
คำพังเพย

        คำพังเพย  เป็นการกล่าวเปรียบเทียบแบบอุปมา ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  มีที่มาจากการกล่าวสืบต่อกันมาอย่างช้านาน  ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนรุ่นก่อนๆ โดยทั่วไปจะมีความหมายแฝงอยู่ และมีลักษณะคล้ายกับสุภาษิต  คำพังเพยจะมีถ้อยคำที่คล้องจอง  ไม่ได้เน้นไปที่การสอนหรือให้คติสอนใจอย่างสุภาษิต  แต่คำพังเพยจะเป็นการกล่าวเปรียบเปรยหรืออาจกล่าวกระทบเสียดสีก็ได้
        ตัวอย่างคำพังเพย
        กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี  คำนี้เป็นคำพังเพยที่คนคงจะคุ้นหูคุ้นตากันไม่น้อย  หลายคนคงจะเคยเรียนประวัติศาสตร์และทราบกันดีอยู่แล้วว่า กรุงศรีอยุธยา เคยเป็นเมืองหลวงของไทยเรามาก่อน  มีประวัติศาสตร์การสู้รบที่ยาวนานกับประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้งหลายคราจนแทบจะนับครั้งไม่ถ้วน  และไม่ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะวุ่นวายมากสักเพียงใดก็จะมีวีรบุรุษ วีรสตรีลุกขึ้นมาปกป้องแผ่นดินในแทบทุกครา  ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย เป็นต้น
        กลิ้งครกขึ้นภูเขา  คำนี้หลายๆ คนจะคุ้นกันกับคำว่า "เข็นครกขึ้นภูเขา" แต่จริงๆ แล้วนั้นไม่ถูกต้อง  เพราะครกมีลักษณะที่กลม  ต้องล้มครกลงแล้ว "กลิ้ง" มิใช่ "เข็น" แต่อย่างใด  คำพังเพยคำนี้มีความหมายว่า เรื่องที่ได้รับมอบหมายหรือตั้งใจที่จะทำนั้นทำได้ยากลำบาก  แต่ก็ทำได้สำเร็จ  ต้องใช้ความพยายามและความสามารถในการทำ  เปรียบเสมือนกับการ กลิ้งครกขึ้นภูเขานั่นเอง



วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นิทานอีสปพร้อมภาพประกอบเรื่อง "หมาป่ากับฝูงแกะ"

นิทานอีสป หมาป่ากับฝูงแกะ

หมาป่ากับฝูงแกะ
หมาป่ากับฝูงแกะ

        แกะฝูงหนึ่งอาศัยอยู่อย่างสงบสุขมานาน  เพราะมีหมาเลี้ยงแกะคอยเฝ้าดูแลระวังภัยให้  ต่อมามีหมาป่าฝูงหนึ่งหวังจะจับแกะกิน  จึงคิดอุบายส่งตัวแทนไปเจรจาสงบศึกกับฝูงแกะ
        "ข้าว่าพวกเรามาเป็นเพื่อนกันดีกว่า  ฝ่ายข้าจะส่งลูกหมาป่าให้พวกเจ้าจับไว้เป็นตัวประกันเพื่อรับรองความปลอดภัย  ส่วนพวกเจ้าก็ส่งหมาเลี้ยงแกะมาให้พวกข้าดีไหม  พวกเราจะได้ปรองดองกันเสียที"
        ฝูงแกะพากันหลงเชื่อเห็นดีด้วย  ส่งหมาเลี้ยงแกะให้หมาป่าไปโดยไม่ยั้งคิด  ฝูงหมาป่าก็แสยะยิ้มแยกเขี้ยว
        "เจ้าพวกแกะโง่เอ๊ย!  คิดหรือว่าพวกข้าอยากเป็นเพื่อนกับพวกเจ้าจริงๆ  ยังไงเจ้าก็เป็นอาหารของพวกข้าอยู่วันยังค่ำ"  หมาป่าพูดจบก็กระโจนเข้าขย้ำแกะกินจนหมดฝูง.

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
        "ยากที่ศัตรูร้ายจะกลับกลายเป็นมิตรที่ดีได้"



ที่มา : 101 เรื่องเอกนิทานอีสป


สุภาษิตภาษาอังกฤษ "นกน้อยทำรังแต่พอตัว"

สุภาษิตภาษาอังกฤษ นกน้อยทำรังแต่พอตัว

นกน้อยทำรังแต่พอตัว
นกน้อยทำรังแต่พอตัว

        สุภาษิตภาษาไทย : นกน้อยทำรังแต่พอตัว
        สุภาษิตภาษาอังกฤษ : Cut your coat according to your cloth.

        หมายถึง  การจะกระทำสิ่งใดๆ ควรทำให้เหมาะสมตามฐานะของตนเอง  ไม่ควรทำเกินฐานะ  อวดร่ำอวดรวย  พอดีพอใช้  สำนวนนี้เอาธรรมชาติการทำรังของนกมาเปรียบเทียบกับการกระทำของคน  นกจะสร้างรังตามขนาดของตัวมัน  นกตัวเล็กก็จะสร้างรังเล็ก  ไม่ให้ใหญ่กว่าตัวมันมาก




วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นิทานอีสปพร้อมภาพประกอบเรื่อง "ต้นโอ๊กกับต้นอ้อ"

นิทานอีสปพร้อมภาพประกอบเรื่อง "ต้นโอ๊กกับต้นอ้อ"

นิทานอีสป
ต้นโอ๊กกับต้นอ้อ

        ณ บึงน้ำแห่งหนึ่ง  มีต้นโอ๊กใหญ่ขึ้นแผ่กิ่งก้านอยู่ริมฝั่งและมีต้นอ้อขึ้นอยู่ในน้ำ  เวลามีลมพัดมา  ต้นอ้อก็เอนลู่ไปตามลม  ต้นโอ๊กจึงพูดขึ้นว่า
        "เจ้านี่ช่างไม่กล้าหาญเอาซะเลย  ขนาดลมพัดเบา ๆ ก็ยังโอนเอนตาม  ดูข้าสิ  ไม่ว่าประจันหน้ากับอะไร  ข้าก็ตั้งตรง  ไม่หวาดหวั่น"
        และแล้วในคืนนั้น  เกิดมีลมพายุพัดโหมกระหน่ำครั้งใหญ่  ต้นโอ๊กพยายามยืนต้านแรงพายุ  แต่ก็ต้านไม่ไหวจนหักโค่นลงไปในที่สุด  ส่วนต้นอ้อนั้นเมื่อพายุพัดผ่านไปก็ชูใบขึ้นตามเดิม  ต้นอ้อเห็นสภาพของต้นโอ๊กจึงพูดว่า
        "การที่ข้าเจียมตัวว่าอ่อนแอ  เอนลู่ไปตามลม  ก็ยังดีกว่าเจ้าที่ทะนงตนว่าแข็งแรงจนพบจุดจบเช่นนี้".

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
        "การโอนอ่อนที่เหมาะสมกับสถานการณ์  ดีกว่าแข็งกร้าวบ้าบิ่นจนเกิดอันตราย"



ที่มา : 101 เรื่องเอกนิทานอีสป

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นิทานอีสปพร้อมภาพประกอบเรื่อง "หนูกับกบ"

นิทานอีสปพร้อมภาพประกอบเรื่อง "หนูกับกบ"

หนูกับกบ
หนูกับกบ

         หนูกับกบกำลังทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงเป็นเจ้าของบึงอันสมบูรณ์  สัตว์ทั้งสองต่อสู้ฟาดฟันกันกลางทุ่งโล่ง
         "นี่แน่ะ! ข้าไม่ยอมให้บึงนี้ตกเป็นของเจ้าหรอก"  เจ้ากบพูด
         "ข้าก็ไม่ยอมแพ้เจ้าเหมือนกัน!"  หนูตะโกนโต้ตอบ
         หนูกับกบมุทะลุต่อสู้กันอย่างดุเดือดโดยไม่สนใจสิ่งใด  เมื่อนกเหยี่ยวตัวหนึ่งบินผ่านมา  ก็โผลงมาโฉบเอาสัตว์ทั้งสองตัวไปกินเป็นอาหารอย่างง่ายดาย.

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
         "ผู้โง่เขลามักทะเลาะกันในเรื่องไม่เป็นเรื่อง  เป็นโอกาสให้ผู้อื่นฉวยผลประโยชน์ไปหมด"



ที่มา : 101 เรื่องเอกนิทานอีสป

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สำนวนไทยในชีวิตประจำวัน

สำนวนไทยในชีวิตประจำวัน

สำนวนไทย
สำนวนไทย
        โลกปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคไอที  การติดต่อสื่อสารทำได้ง่ายดายแค่เพียงไม่กี่ขั้นตอน  ความรู้สึกของคนในยุคปัจจุบันย่อมมีความรู้สึกว่าโลกแคบลง เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอะไรต่างๆ ได้จากทั่วทุกมุมโลก  การศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ได้ยกระดับขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าของโลกในยุคเทคโนโลยี  กล่าวคือในสมัยก่อนการค้นหาคำตอบของคำถามบางคำถามเราจำเป็นต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการเข้าห้องสมุดเพื่อไปค้นหาผ่านหนังสือที่มีเป็นร้อยๆ พันๆ เล่มเพื่อที่จะได้คำตอบมาเพียงคำตอบเดียวเพื่อตอบอาจารย์  แต่ในทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาขนาดนั้นเพียงแค่คลิ๊กเดียว  ทุกคำตอบจะมาอยู่หน้าตรงของเรา
        เว็บไซด์สืบค้นข้อมูลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น  การจะหาคำตอบของคำถามเป็นไปได้ง่ายมากเพียงแค่พิมพ์คำถามแล้วคลิ๊ก  โลกการศึกษาเปลี่ยนไปในแง่ของความรวดเร็วในการหาความรู้  การสื่อสารเปิดกว้างมากขึ้น  การใช้คำมีการเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม  สำนวนไทยบางคำเราอาจจะลืมไปแล้ว  และมีคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในแต่ละวันเพื่อที่จะมาทดแทนคำเก่าๆ ที่เราเลิกใช้ไป  เป็นไปตามวัฏจักรของโลก  ยิ่งในทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวไปเร็วมากเพียงใด  กระแสสังคมยิ่งเปลี่ยนไปมากขึ้นเท่านั้น  ไม่เว้นแต่ละวันเลยก็ว่าได้
        สำนวนไทย มีการเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมเช่นกัน  คำใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด  ยิ่งโลกก้าวเข้าสู่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค  คำใหม่ๆ ที่คนรุ่นก่อนไม่เคยได้ยินมาเลยก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกวัน  ยกตัวอย่างสำนวนที่เราพอจะคุ้นเคยกันในสมัยก่อน เช่น ขิงก็รา ข่าก็แรง, ก้างขวางคอ, กงเกวียนกำเกวียน, กลิ้งครกขึ้นภูเขา เป็นต้น
        คำใหม่ๆ ที่คนเก่าๆ อาจไม่คุ้นเคยเลยนั้นมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน  บางครั้งตัวเราเองอาจจะลองคิดดูว่าถ้าเราย้อนอดีตกลับไปได้ซัก 100ปี  เราจะยังคุยกับบรรพบุรุษเรารู้เรื่องอยู่รึเปล่า  เพราะคำที่เราใช้กับคำที่บรรพบุรุษเราใช้นั้นช่างแตกต่างกันเหลือเกิน  สำนวนไทยที่เกิดขึ้นใหม่นั้นมีอยู่มากมาย  และเกิดขึ้นจากหลายวงการดังจะจำแนกได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
        1. สำนวนที่เกิดจากวงการสื่อมวลชน 
เช่น
        ไปไม่ถึงดวงดาว (ทำไม่สำเร็จ ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คิดไว้)
        มองต่างมุม (แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปผู้อื่น)

        2. สำนวนที่เกิดจากวงการเมือง
เช่น
        โปร่งใส (ชัดเจน  ไม่มีลับลมคมใน)
        น็อตหลุด (ยั้งไม่อยู่   พูดโพล่งออกมาหรือแสดงอารมณ์อย่างไม่สมควร)

        3. สำนวนที่เกิดจากวงการโฆษณา
เช่น
        ภาษาดอกไม้ (คำพูดที่ไพเราะ รื่นหู  พูดไปในทางที่ดี)
        มีระดับ (คุณภาพดี  มีมาตรฐานสูง)

        4. สำนวนที่เกิดจากวงการบันเทิง
เช่น
        แจ้งเกิด (เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหรือเป็นที่ยอมรับในวงการนั้น ๆ)
        คู่กัด (คู่ที่ไม่ถูกกัน  ไม่ลงรอยกัน)

        5. สำนวนที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ
เช่น
        เเกะดำ (Back Sheep ใช้หมายถึง คนชั่วในกลุ่มคนดี)
        แขวนอยู่บนเส้นด้าย (Hang by a Thread  ใช้หมายถึง  ตกอยู่ในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่ออันตราย)
        ลื่นเหมือนปลาไหล (Slippery as eel ใช้หมายถึง  (คน)ที่เชื่อถือได้ยากเพราะเป็นคนตลบตะแลง  พลิกแพลงกลับกลอก  หรือหลบเลี่ยงไปมาได้คล่องแคล่ว)
        ล้างมือ (Wash one’ s Hand of  ใช้หมายถึง  ปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบ  หรือเลิกเกี่ยวข้อง)
        สร้างวิมานในอากาศ (Build Castles in The Air  ใช้หมายถึง  ฝันหรือหวังในสิ่งที่ไม่วสามารถจะเป็นความจริงได้)

        6. สำนวนเกิดใหม่ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวัน  
- สำนวนสร้างใหม่
เช่น
        ขบเหลี่ยม (ไม่ลงรอยกัน  ขัดกัน  หักร้างกัน)
        ไทยเหลือง (พระที่ประพฤติตน ไม่เหมาะสม)
- สำนวนดัดแปลง
เช่น
        กิ้งก่าฟาดหาง (อาการเตะเพื่อทำร้ายฝ่ายตรงข้าม  ดัดแปลงจากชื่อท่ามวยไทย  จระเข้ฟาดหาง )
        นักกินเมือง (นักการเมืองที่มุ่งแต่จะหาประโยชน์เข้าตัวเอง  ดัดแปลงจากคำว่า  นักการเมือง)
        ยุค IMF  (ยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำต้องประหยัด  IMF  มาจากคำว่า International Monetary Found  ซึ่งเป็นชื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ)
- สำนวนที่เปลี่ยนบริบทการใช้
เช่น
        ชิงสุกก่อนห่าม (ตกรอบไปก่อนเวลาอันสมควร  ปกติใช้กับการที่หนุ่มสาวลักลอยได้เสียกันก่อนแต่งงาน  แต่นำมาใช้ในบริบทใหม่ทางการกีฬา)
        อุ้ม (ลักพาตัวไป เพื่อนำไปฆ่า  เปลี่ยนความหมายจากเดิมที่หมายถึง โอบ ยกขึ้น ยกขึ้นไว้กับตัว  หรือให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือ)
- สำนวนที่มาจากภาษาต่างประเทศ
เช่น
        ฮั้ว (สมยอมกันในการประมูลงานโดย บริษัทหนึ่งจะ นัดบริษัทอื่นๆ   ที่สนใจในการประมูลงานใดงานหนึ่งมาตกลงกัน  บริษัทนั้นจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้บริษัทอื่น ๆ เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นหลีกทางให้บริษัทตนเป็นผู้ประมูลได้  มาจากคำว่า  ฮั้ว ในภาษาจีน)
        ไฮโซ  ไฮซ้อ  ไฮซิ้ม  (ชนชั้นสูงหรือผู้มีเงิน  มีฐานะในวงสังคม  มีที่มาจากคุณหญิง คุณนายที่เป็นภรรยาหรือบุตรนักธุรกิจ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเสื้อสายจีน  และบางคนอาจมีลักษณะของความเป็นจีนอยู่  จึงมีการพูดล้อเลียน  ไฮซ้อ  ไฮซิ้ม   มาจากคำว่า  ไฮโซ รวมกับคำว่า  ซ้อ  และ ซิ้ม  ซึ่งเป็นภาษาจีน)
        เตะซีมะโด่ง (ให้พ้นจากตำแหน่ง  ปกติจะใช้ว่า  เตะโด่ง   ซีมะโด่ง  เป็นคำมาจากภาษาเขมรว่า  ซีมวยดอง  แปลว่า  กินหนึ่งครั้ง  เสียงพยางค์สุดท้ายใกล้เคียงกับคำว่า โด่ง  ในภาษาไทย  จึงนำมาใช้แทนคำว่า โด่ง)

ที่มา :
สำนวนที่เกิดขึ้นใหม่ : http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter5-5.html

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความหมายและการแยกแยะ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย

ความหมายและการแยกแยะ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย

         สำนวน หมายถึง คำกล่าวสั้นๆ กระชับรัดกุม แต่ไม่มีความหมายตรงตามตัวอักษร จะมีความหมายแปลกไปจากความหมายเดิมที่ใช้กันเป็นปกติในวัฒนธรรม
เช่น
       จูงจมูก หมายถึง ยอมให้คนอื่นพาไปทางไหน ทำอะไรก็ได้
       ต่อยหอย หมายถึง พูดไม่หยุดปาก
       ถอยหลังเข้าคลอง หมายถึง ถอยกลับไปสู่ยุคเก่าหรือแบบเก่า

        สุภาษิต หมายถึง ข้อความสั้นๆ กะทัดรัด แต่มีความหมายชัดเจนลึกซึ้ง มีคติสอนใจ หรือให้ความจริงเกี่ยวกับคววามคิดและแนวปฏิบัติ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้และเชื่อถือได้
เช่น
        แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร หมายถึง การยอมคู่กรณีเพื่อไม่ให้มีเรื่องราวใหญ่โต แต่ถ้าหากไม่ยอมแพ้ก็จะมีปัญหาและเรื่องราวอาจจะบานปลาย
        น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ หมายถึง อย่าทำอะไรที่เป็นการขัดขวาง ขัดอารมณ์ของผู้มีอำนาจหรือ ขัดขวางในสิ่งที่กำลังมีความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตรายได้

        คำพังเพย มีลักษณะคล้ายสุภาษิตและเกือบเป็นสุภาษิต แต่ไม่ได้สอนใจหรือให้ความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้โดยตรง เป็นคำกล่าวที่มีลักษณะติชม แสดงความเห็นอยู่ในตัว
เช่น
        ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น หมายถึง การที่ดูเหมือนว่าจะมีความละเอียดรอบคอบดีแล้ว แต่ความจริงยังมีช่องโหว่ที่เป็นอันตรายที่ยังต้องแก้ไขต่อเพื่อป้องกันความเสี่ยงอีก
        ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมายถึง การกระทำที่มีการลงทุน ลงแรงไปจำนวนมากแต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมามีผลเล็กน้อยมากหรือแทบไม่มีประโยชน์ใดๆ

        ถึงแม้จะสามารถแยกว่าคำไหนเป็น สำนวน สุภาษิต คำพังเพย แต่ในทางปฏบัติจริงแล้วนั้นมีปัญหามาก เพราะข้อความหรือคำกล่าวเช่นนี้มีจำนวนมากและมีลักษณะคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างสำนวน สุภาษิต คำพังเพย จนไม่อาจตัดสินเด็ดขาดว่าอยู่ในประเภทไหน
เช่น
        น้ำขึ้นให้รีบตัก (เป็นสำนวน เพราะความหมายไม่ตรงตามอักษร เป็นคำพังเพย เพราะกล่าวติชมแสดงความเห็นเกี่ยวกับคนที่ฉวยโอกาส เป็นสุภาษิต เพราะให้คติสอนใจว่า เมื่อมีโอกาส จงรีบทำกิจการให้ได้รับผลสำเร็จ)
        น้ำลดตอผุด (เป็นสำนวน เพราะความหมายไม่ตรงตามอักษร เป็นคำพังเพย กล่าวติหรือเย้ยหยัน คนทำชั่วที่ความชั่วนั้นได้ปรากฏขึ้น เป็นสุภาษิต เพราะ สอนความจริงที่ว่า ความชั่ว ความผิดพลาดนั้น ไม่สามารถปิดบังได้ตลอดไป)
        เพราะเหตุนี้จะไม่เน้นความสามารถในการแยกประเภทแต่จะเน้นความหมาย เพื่อจะนำไปใช้ได้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย

สุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย

สุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย
สุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย

กงกํากงเกวียน

ใช้เป็นคําอุปมาหมายความว่า เวรสนองเวร, กรรมสนองกรรม, เช่น ทําแก่เขาอย่างไร  ตนหรือลูกหลานก็อาจจะถูกทําในทํานองเดียวกันอย่างนั้นบ้างนั่นคือกํากงเกวียน

กรวดน้ำคว่ำกะลา, กรวดน้ำคว่ำขัน

ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย

กระดังงาลนไฟ

หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน

กระดี่ได้น้ำ

ใช้เปรียบเปรยถึงคนที่แสดงอาการดีอกดีใจจนตัวสั่นจนเกินงาม เช่น เขาดีใจเหมือนกระดี่ได้น้ำ

กระต่ายขาเดียว, กระต่ายสามขา

ยืนกรานไม่ยอมรับ  แม้ว่าผลนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม

กระต่ายตื่นตูม

การตกใจเกินกว่าเหตุ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ยังไม่ทันได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก็ตกใจไปเสียก่อนแล้ว เหมือนกับนิทานอีสปเรื่องกระต่ายตื่นตูม   ใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายเกินไปโดยไม่ทันสํารวจให้ถ่องแท้เสียก่อน

กระต่ายหมายจันทร์

ผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่มีฐานะดีกว่า  โดยที่ไม่นึกถึงฐานะของตนเอง

กําขี้ดีกว่ากําตด

มีบางสิ่งที่ดีเข้ามาให้รีบคว้าไว้  ได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

กินน้ำใต้ศอก

จําต้องยอมตกเป็นรองเขา, ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่าเขา, (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้เมียหลวง)

กาคาบพริก

ลักษณะคนผิวดําแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแดง  ที่ไม่เข้ากับสีผิวตนเอง

กินบนเรือน ขี้บนหลังคา

คนเนรคุณ  ไม่สำนึกบุญคุณผู้ที่ชุบเลี้ยงมา

กินปูนร้อนท้อง

ทําอาการมีพิรุธเอง, แสดงอาการเดือดร้อนขึ้นเอง, ร้อนตัวไปเอง

เกลือเป็นหนอน, ไส้เป็นหนอน

ญาติพี่น้อง สามีภรรยา บุตรธิดา เพื่อนร่วมงาน หรือคนในบ้านคิดคดทรยศ

ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับซึ่งกันและกัน  รู้ไส้รู้พุงกันดี

ขนทรายเข้าวัด

การทําประโยชน์ให้ส่วนรวม โดยการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งแม้ไปกระทบให้ผู้อื่นเสียประโยชน์ ก็ถือว่ายกให้กับส่วนรวมไม่ต้องมีอะไรมาชดเชยก็ได้  เพราะหาประโยชน์ให้ส่วนรวม

ขมิ้นกับปูน

คนสองคนที่ไม่ลงรอยกัน อยู่ใกล้กันเมื่อไหร่ก็ต้องทะเลาะวิวาทกันเมื่อนั้น,  ชอบวิวาทกันอยู่เสมอเมื่ออยู่ใกล้กัน, ไม่ถูกกัน

ข่มเขาโคขืน

บังคับขืนใจผู้อื่นให้ทำตามที่ตนต้องการ เช่น จะจัดแจงแต่งตามอารมณ์ให้กินหญ้า  เราเหมือนข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า  เป็นต้น

ขว้างงูไม่พ้นคอ

ทําอะไรแล้วผลร้ายกลับมาสู่ตัว ขวานผ่าซาก โผงผางไม่เกรงใจใคร (ใช้แก้กริยาพูด)

ขิงก็รา ข่าก็แรง

ต่างก็จัดจ้านพอ ๆ กัน, ต่างก็มีอารมณ์ร้อนพอ ๆ กัน, ต่างไม่ยอมลดละกัน

ขี่ช้างจับตั๊กแตน

การจัดทําสิ่งใดที่เป็นการโกลาหลโดยใช่เหตุ หรือธุระที่ทำนั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยไม่น่าจะต้องลงทุนหรือเตรียมการใหญ่โตเกินต้องการ เหมือนคนลงทุนมากได้ผลตอบแทนน้อย

ขี้แพ้ชวนตี

แพ้ตามกติกาแล้วยังไม่ยอมรับว่าแพ้จะเอาชนะด้วยกําลัง, แพ้แล้วพาล

ขุนไม่ขึ้น, ขุนไม่เชื่อง

เลี้ยงไม่เชื่องมีแต่เนรคุณ  ไม่นึกถึงบุญคุณคน

เขียนเสือให้วัวกลัว

ทําอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียขวัญหรือเกรงขาม

ไข่ในหิน

สิ่งต่างๆ หรือสิ่งใด ที่มีลักษณะเปราะมอมบางอ่อนแอ ต้องทะนุถนอมเป็นพิเศษ ไม่ให้ได้รับอันตรายหรือเกิดการเสียหายได้  ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอมอย่างยิ่ง

คงเส้นคงวา

เสมอต้นเสมอปลาย  ไม่ว่อกแว่ก

คดในข้องอ ในกระดูก

มีสันดานคดโกง  ไม่ซื่อสัตย์  ซื่อตรง

คว่ำบาตร

ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย, เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วยการไม่คบ ไม่รับบิณฑบาต เป็นต้น

คางคกขึ้นวอ

การประชดประชันหรือเสียดสีเมื่อปรากฏว่าบุคคลใด บุคคลหนึ่งซึ่งขาดลักษณะเหมาะสมได้รับการยกย่อง จนเกินฐานะและพื้นเพเดิม  คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยาอวดดีลืมตัว

ฆ่าช้างเอางา

การทําลายสิ่งที่ใหญ่โตลงทุนลงแรงไปมาก เพื่อให้ได้ของสําคัญเพียงเล็กน้อย โดยไม่คํานึงว่าการกระทํานั้นจะสมควรหรือไม่ขอให้ได้สิ่งที่ต้องการ

จระเข้ขวางคลอง

ผู้ที่ชอบกันท่าหรือขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นทําการอย่างใดอย่างหนึ่งได้สะดวก เหมือนจระเข้ที่ขึ้นมาขวางคลองทําให้เรือผ่านไปผ่านมาไม่สะดวก

จับปลาสองมือ

ต้องการตําหนิชายหรือหญิงที่ใจไม่แน่นอน เช่น รักคนสองคนในเวลาเดียวกัน ดีไม่ดีคนรักอาจหลุดมือไปทั้งสองคนเลยก็ได้  หมายจะเอาให้ได้ทั้ง 2 อย่าง, เสี่ยงทําการพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจไม่สําเร็จทั้ง 2 อย่าง

จับปูใส่กระด้ง

การเปรียบเทียบกับเด็กๆที่ซุกซน ไม่ยอมอยู่นิ่งผู้ใหญ่ต้องคอยควบคุมดูแลตลอดเวลา เพื่อให้เด็กอยู่ในระเบียบ  ยากที่จะทําให้อยู่นิ่ง ๆ ได้

จับแพะชนแกะ

ทําอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทนเพื่อให้ลุล่วงก็ไป

ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน

นําศัตรูเข้าบ้าน

ชักใบให้เรือเสีย

พูดหรือทําขวาง ๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป

ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด

คนที่ทําความผิดอย่างร้ายแรง ย่อมไม่สามารถปกปิดความผิดของตนได้ หรือ พยายามหาหลักฐานมากลบเกลื่อน แต่ไม่สามารถปกปิดความผิดนั้นได้

เด็กอมมือ

ผู้ไม่รู้ประสีประสา

ดินพอกหางหมู

การปล่อยงานคั่งค้างอยู่เรื่อยๆ เพราะมัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง ในไม่ช้างานที่คั่งค้างนั้นจะพอกพูนมากขึ้นทุกที จนเป็นภาระที่น่าเบื่อหน่ายภายหลัง  งานที่คั่งค้างพูนขึ้นเรื่อย ๆ

เด็กเมื่อวานซืน

คํากล่าวเชิงดูหมิ่นหรือเชิงสั่งสอนว่า มีความรู้หรือประสบการณ์น้อย

เด็ดบัวไม่ไว้ใย

ตัดขาด, ตัดญาติขาดมิตรกันเด็ดขาด, มักใช้คู่กับ เด็ดดอกไม้ไว้ขั้ว เด็ดบัวไม่ไว้ใย

ตบตา

หลอกหรือลวงให้เข้าใจผิด

ตบมือข้างเดียวไม่ดัง

ทําอะไรฝ่ายเดียวไม่เกิดผล

ตบหัวลูบหลัง

ทําหรือพูดให่กระทบกระเทือนใจในตอนแรกแล้วกลับทํา หรือพูดเป็นการปลอบใจในตอนหลัง

ตักบาตรถามพระ

จะให้อะไรสักอย่างหนึ่งแก่ผู้อื่น ในเมื่อผู้นั้นเต็มใจรับอยู่แล้ว ไม่ต้องถามว่าจะเอาหรือไม่เอา เมื่อจะให้ก็ให้ทีเดียว เหมือนกับถวายอาหารพระ พระท่านจะรับของทุกอย่างไม่มีการปฏิเสธ

ตัดหางปล่อยวัด

ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป

ตาบอดได้แว่น

ได้รับสิ่งของที่มีคนเขาให้มา แต่ตัวเองไม่มีปัญญาจะใช้ เช่น มีคนให้พัดลมมาแต่ที่บ้านไม่มีไฟฟ้า เป็นต้น

ตาลีตาเหลือก

อาการรีบร้อนลนลาน, ตื่นกลัว

ตีงูให้กากิน

ลงทุนลงแรงทําสิ่งที่ไม่เป็นคุณแก่ตน มีแต่จะเป็นโทษแล้วยังกลับไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอีก เช่น ตีงูให้ตายแต่ไม่ได้นํางูมาเป็นอาหารกลับโยนงูให้กากิน

ถวายหัว

ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อชาติ, เอาชีวิตเป็นประกัน, ทําจนสุดความสามารถ, ยอมสู้ตาย

ถ่านไฟเก่า

ชายหญิงที่เคยรักใคร่หรือเคยได้เสียกันมาก่อน แม้เลิกร้างกันไปเมื่อมาพบกันใหม่ย่อมรักใคร่หรือปลงใจกันได้ง่ายขึ้น

ถอนหงอก

ไม่นับถือเป็นผู้ใหญ่, พูดว่าให้เสียผู้ใหญ่

ถอดเขี้ยวถอดเล็บ

ละพยศ, ละความดุหรือร้ายกาจ, เลิกแสดงฤทธิ์แสดงอํานาจอีกต่อไป

ถอยหลังเข้าคลอง

หวนกลับไปหาแบบเดิม

ทองแผ่นเดียวกัน

เกี่ยวดองกันโดยการแต่งงาน

ทองไม่รู้ร้อน

เฉยเมย, ไม่กระตือรือร้น, ไม่สะดุ้งสะเทือน

ท่าดีทีเหลว

มีท่าทางดี แต่ทําอะไรไม่ได้เรื่อง

ทํานาบนหลังคน

หาผลประโยชน์ใส่ตนโดยขูดรีดผู้อื่น

ทําบุญเอาหน้า

ทําบุญอวดผู้อื่น ไม่ใช่ทําด้วยใจ

นกต่อ

คนที่ทําหน้าที่ติดต่อหรือชักจูงหลอกล่อคนอื่นให้หลงเชื่อ (ใช้ในทางไม่ดี)

นกน้อยทํารังแต่พอตัว

เป็นผู้น้อยทําอะไรต้องดูให้พอสมควรกับฐานะของตน เช่น มีเงินไม่มากนัก ก็สร้างบ้านพอประมาณมิใช่สร้างใหญ่โตเพิ่มภาระหนี้สินให้ครอบครัว

นายว่าขี้ข้าพลอย

พูดผสมโรงติเตียนผู้อื่นตามนายไปด้วย

น้ำขึ้นให้รีบตัก

มีโอกาสดีควรรีบทํา

น้ำบ่อน้อย

น้ำลาย

น้ำลดตอผุด

เมื่อหมดอํานาจความชั่วที่ทําไว้ก็ปรากฏ

บนบานศาลกล่าว

ขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ

บอกเล่าเก้าสิบ

บอกกล่าวให้รู้

บ่างช่างยุ

คนที่ชอบส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน

บุกป่าฝ่าดง

พยายามต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ

ปลากระดี่ได้น้ำ

การแสดงอาการดีใจจนออกหน้าดูแล้วเกินงาม ส่วนใหญ่แล้วจะว่าผู้หญิงที่แสดงอาการดีใจ และท่าทางไม่เรียบร้อย

ปลาข้องเดียวกัน

คนที่อยู่ร่วมกันหรือเป็นพวกเดียวกัน

ปลาหมอแถกเหงือก

กระเสือกกระสนดิ้นรน

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

คนที่มีอํานาจราชศักดิ์ หรือเป็นใหญ่เป็นโตก็ย่อมข่มคนที่เป็นผู้น้อยเหมือนกับคนที่มีกําลังมากย่อมมีภาษีเหนือกว่าคนอ่อนแอ

ปากปลาร้า

ชอบพูดคําหยาบ

ปิดทองพระ

ทําความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่องเพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า

ปิดประตูตีแมว

รังแกคนไม่มีทางสู้  ไม่มีทางหนีรอดไปได้

เป่าปี่ให้ควายฟัง

การพูดจาแนะนําสั่งสอนให้คนโง่เง่าฟัง เพื่อหวังให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเขาเอง  แต่กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะคนโง่ฟังไม่รู้เรื่องเหมือนกับคนเป่าปี่ให้ควายฟังควายฟังไม่รู้เรื่อง

ผ่อนหนักเป็นเบา

ลดความรุนแรง, ลดหย่อนลง

ผักชีโรยหน้า

การทําความดีเพียงผิวเผิน

ผ้าขี้ริ้วห่อทอง

คนมั่งมีแต่แต่งตัวซอมซ่อ

ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

ให้หรือแจกจ่ายอะไรไม่ทั่วถึงกัน

ฝนทั่งให้เป็นเข็ม

เพียรพยายามสุดความสามารถจนกว่าจะสําเร็จผล

ฝากผีฝากไข้

ขอยึดเป็นที่พึ่งจนวันตาย

พูดเป็นนัย

พูดอ้อม ๆ โดยไม่บอกเรื่องราวตรง ๆ

พุ่งหอกเข้ารก

ทําพอให้เสร็จไปโดยไม่มีเป้าหมายหรือโดยไม่คํานึงว่าใครจะเดือดร้อน

ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด

ฟังไม่ได้ความแจ่มชัด แล้วเอาไปพูดต่อหรือทําผิด ๆ พลาด ๆ

ม้าดีดกระโหลก

กริยาท่าทางผลุบผลับกระโดกกระเดกลุกลน มักใช้ว่าผู้หญิงที่ไม่เรียบร้อย จะลุก จะนั่งจะเดินเตะนั่นโดนนี่ กระทบโน่นไปรอบข้าง  มีกิริยากระโดกกระเดกลุกลนหรือไม่เรียบร้อย (มักใช้แก่ผู้หญิง)

มีหน้ามีตา

มีคนนับถือ, มีเกียรติ, ได้รับความยกย่อง

มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

ไม่ช่วยทํางานแล้วเกะกะขัดขวาง ทําให้งานเดินไปไม่สะดวก เหมือนกับคนที่นั่งไปในเรือไม่ช่วยพาย แต่ยังไปเอาเท้าไปราน้ําให้เรือแล่นช้า

แม่สื่อแม่ชัก ไม่ได้เจ้าตัว เอาวัวพันหลัก

หญิงที่ไปติดต่อระหว่างชายหญิงแต่ไม่สําเร็จในที่สุดก็ตกเป็นภรรยาของชายนั้นแทน

ไม่ใช่ขี้ไก่

ไม่เลว, มีอะไรดีเหมือนกัน ดูหมิ่นไม่ได้, ใช้ได้ทีเดียว

ไม่มีเงาหัว

เป็นลางว่าจะตาย, เป็นลางร้าย

ไม้ใกล้ฝั่ง

แก่ใกล้จะตาย, อายุเยอะ

ไม้เบื่อไม้เมา

ไม่ลงรอยกัน, ขัดแย้งกันเป็นประจํา

ยกตนข่มท่าน

ยกย่องตัวเองและข่มผู้อื่น, พูดทับถมผู้อื่นแสดงให้เห็นว่าตนเหนือกว่า

ยกเมฆ

เดาเอา, นึกคาดเดาเอาเอง, กุเรื่องขึ้น

ยกหางตัวเอง

ยกตนเองว่าดี  ว่าเก่ง

ยืนกระต่ายขาเดียว

การพูดยืนยันคําเดียวไม่แปรผันหรือเปลี่ยนแปลงไป เช่น เขาไม่ได้ลักเงินไปจริงๆ ถามเขาตั้งร้อยครั้งเขาก็ยืนยันว่าไม่ได้เอาไปจริง

รวบหัวรวบหาง

รวบรัดให้สน, ทําให้เสร็จโดยเร็วฉวยโอกาสเมื่อมีช่องทาง

รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา

ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลําบาก

ลมเพลมพัด

อาการที่เจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุมักเข้าใจว่าถูกกระทํา

ลิงหลอกเจ้า

ล่อหลอกผู้ใหญ่เวลาผู้ใหญ่เผลอ

วัดรอยเท้า

มุ่งจะโต้ตอบ มุ่งแก้แค้น มุ่งอาฆาต เป็นสํานวนที่ใช้กับลูกที่คิดจะสู้ลูก หรือใช้กับผู้น้อย คิดจะหักล้างผู้ใหญ่ที่เคยบังคับบัญชาตนมาก็ได้

วันพระไม่ได้มีหนเดียว

วันหน้ายังมีโอกาสอีก (มักใช้พูดเป็นเชิงอาฆาต)

วัวแก่อยากกินหญ้าอ่อน

ชายแก่ที่มีเมียสาวคราวลูกหลาน มักใช้เป็นคําเปรียบเปรย เมื่อเห็นคนที่มีอายุมากไปจีบเด็กรุ่นลูกหลานหวังจะได้มาเป็นเมีย

วัวลืมตีน

คนที่ได้ดีแล้วลืมฐานะเดิมของตน

วัวหายล้อมคอก

เกิดเรื่องเสียหายขึ้นแล้ว จึงคิดหาหนทางป้องกัน เหมือนมีสมบัติไม่เก็บรักษาให้ดี พอสมบัติหายไปแล้วจึงหาทางสร้างที่เก็บสมบัติ

ศิษย์คิดล้างครู

ศิษย์เนรคุณที่มุ่งคิดทําลายล้างครูบาอาจารย์

ศิษย์มีครู

คนเก่งที่มีครู

สองจิตสองใจ

ลังเล, ตัดสินใจไม่ได้, เช่น จะไปเชียงใหม่ดีหรือไม่ไปดี ยังสองจิตสองใจอยู่

สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ

สอนคนที่มีสันดานไม่ดีอยู่แล้ว ให้มีความเฉลียวฉลาดมากยิ่งขึ้น แล้วก็ก่อให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นมาภายหลัง

สิ้นประตู

ไม่มีทาง  สิ้นหนทางจะไป

หนีเสือปะจระเข้

คนที่มีความทุกข์กําลังจะได้รับอันตราย ไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นแต่กลับไปพบความทุกข์อันตรายอีก จากบุคคลที่ไปขอพึ่งพิง

หนอนหนังสือ

คนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับการอ่านหนังสือ

หมากัดไม่เห่า

คนที่ต่อสู้หรือตอบโต้โดยไม่เตือนล่วงหน้า

หมูในอวย

สิ่งที่อยู่ในกํามือ

หวานนอกขมใน

พูด กระทํา หรือแสดงให้เห็นว่าดีแต่ภายนอก แต่ในใจกลับตรงกันข้าม

หอกข้างแคร่

คนที่ใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ มักใช้แก่ลูกเลี้ยงที่ติดมากับพ่อหรือแม่, ศัตรูที่อยู่ข้างตัว  เป็นต้น

อมพระมาพูด

ใช้ในการพูดโดยอ้างพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประกอบเป็นพยาน มักใช้ในการปฏิเสธ เช่น ต่อให้อมพระมาพูดฉันก็ไม่เชื่อ

เอาเป็ดไปขันประชันไก่

การเอาของที่ไม่ดี ไม่มีค่ามาแทนของมีค่า เช่น นําทองแดงหัวพลอยไปแทน แหวนทองคําฝังเพชร เป็นต้น