วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่มาและความหมายของสำนวนไทย "ยืนกระต่ายสามขา" หรือ "ยืนกระต่ายขาเดียว"

สำนวนไทย "ยืนกระต่ายสามขา" หรือ "ยืนกระต่ายขาเดียว"

ยืนกระต่ายขาเดียว
ยืนกระต่ายขาเดียว

        สำนวนนี้คนมักจะใช้กันผิดบ่อยครั้งเป็น  ยืนกระต่ายขาเดียว  แต่จริงๆ แล้วนั้นสำนวนนี้ที่ถูกต้องคือ  ยืนกระต่ายสามขา  สำนวนนี้มีความหมายว่า  พูดยืนยันอยู่คำเดียว  โดยไม่เปลี่ยนคำพูด ความคิดเดิม  เถียงข้างๆ คูๆ  ยึดติดกับคำพูดนั้นเป็นการยืนกระต่ายสามขา
        ที่มาที่ไปของสำนวนไทย  ยืนกระต่ายสามขา  เกิดจากนิทานเรื่องหนึ่ง  เกี่ยวกับหลวงตากับเด็กวัดที่ว่า
        กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในป่าห่างไกลจากหมู่บ้าน  มีเด็กวัดอยู่คนหนึ่งมีหน้าที่ออกหาอาหารเพื่อนำมาทำให้พระฉัน  วันหนึ่งเกิดนึกอยากจะเอาใจหลวงตาจึงเข้าป่าล่าสัตว์ได้กระต่ายมาตัวหนึ่ง  จึงทำการย่างกระต่าย  แต่กลิ่นของกระต่ายย่างนั้นช่างเย้ายวนใจ ยั่วยวนน้ำลายยิ่งนัก  เด็กวัดจึงอดใจไม่ไหวฉีกขากระต่ายย่างออกมากินข้างหนึ่ง
        เมื่อเด็กวัดนำกระต่ายย่างไปถวายเพื่อให้หลวงตาฉันเพล  หลวงตาสังเกตเห็นกระต่ายเหลือเพียงสามขา  จึงสอบถามว่าใครแอบกินกระต่ายย่างไปขาหนึ่ง
        เด็กวัดจึงตอบว่ากระต่ายตัวนี้นั้นแต่เดิมมีอยู่สามขาอยู่แล้ว   ถึงแม้หลวงตาจะซักไซร้ ไล่เรียง สักเพียงใดเด็กวัดก็ยืนยันว่า กระต่ายตัวนี้มีเพียงสามขา  และตนไม่ได้แอบกินจริงๆ จนหลวงตาต้องยอมแพ้
        ทั้งหมดทั้งปวงนี้จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า  ยืนกระต่ายสามขา
        ส่วน ยืนกระต่ายขาเดียว นั้นเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่ผู้ไล่จับต้องกระโดดด้วยขาข้างเดียวเพื่อไล่จับอีกฝ่าย  ถ้าไล่จับอีกฝ่ายได้  ผู้เล่นอีกฝ่ายต้องยืนขาเดียวแล้วกระโดดไล่จับแทน  มันจึงเป็นที่มาของความเข้าใจผิดในสำนวนนี้