วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สำนวนไทยในชีวิตประจำวัน

สำนวนไทยในชีวิตประจำวัน

สำนวนไทย
สำนวนไทย
        โลกปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคไอที  การติดต่อสื่อสารทำได้ง่ายดายแค่เพียงไม่กี่ขั้นตอน  ความรู้สึกของคนในยุคปัจจุบันย่อมมีความรู้สึกว่าโลกแคบลง เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอะไรต่างๆ ได้จากทั่วทุกมุมโลก  การศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ได้ยกระดับขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าของโลกในยุคเทคโนโลยี  กล่าวคือในสมัยก่อนการค้นหาคำตอบของคำถามบางคำถามเราจำเป็นต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการเข้าห้องสมุดเพื่อไปค้นหาผ่านหนังสือที่มีเป็นร้อยๆ พันๆ เล่มเพื่อที่จะได้คำตอบมาเพียงคำตอบเดียวเพื่อตอบอาจารย์  แต่ในทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาขนาดนั้นเพียงแค่คลิ๊กเดียว  ทุกคำตอบจะมาอยู่หน้าตรงของเรา
        เว็บไซด์สืบค้นข้อมูลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น  การจะหาคำตอบของคำถามเป็นไปได้ง่ายมากเพียงแค่พิมพ์คำถามแล้วคลิ๊ก  โลกการศึกษาเปลี่ยนไปในแง่ของความรวดเร็วในการหาความรู้  การสื่อสารเปิดกว้างมากขึ้น  การใช้คำมีการเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม  สำนวนไทยบางคำเราอาจจะลืมไปแล้ว  และมีคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในแต่ละวันเพื่อที่จะมาทดแทนคำเก่าๆ ที่เราเลิกใช้ไป  เป็นไปตามวัฏจักรของโลก  ยิ่งในทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวไปเร็วมากเพียงใด  กระแสสังคมยิ่งเปลี่ยนไปมากขึ้นเท่านั้น  ไม่เว้นแต่ละวันเลยก็ว่าได้
        สำนวนไทย มีการเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมเช่นกัน  คำใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด  ยิ่งโลกก้าวเข้าสู่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค  คำใหม่ๆ ที่คนรุ่นก่อนไม่เคยได้ยินมาเลยก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกวัน  ยกตัวอย่างสำนวนที่เราพอจะคุ้นเคยกันในสมัยก่อน เช่น ขิงก็รา ข่าก็แรง, ก้างขวางคอ, กงเกวียนกำเกวียน, กลิ้งครกขึ้นภูเขา เป็นต้น
        คำใหม่ๆ ที่คนเก่าๆ อาจไม่คุ้นเคยเลยนั้นมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน  บางครั้งตัวเราเองอาจจะลองคิดดูว่าถ้าเราย้อนอดีตกลับไปได้ซัก 100ปี  เราจะยังคุยกับบรรพบุรุษเรารู้เรื่องอยู่รึเปล่า  เพราะคำที่เราใช้กับคำที่บรรพบุรุษเราใช้นั้นช่างแตกต่างกันเหลือเกิน  สำนวนไทยที่เกิดขึ้นใหม่นั้นมีอยู่มากมาย  และเกิดขึ้นจากหลายวงการดังจะจำแนกได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
        1. สำนวนที่เกิดจากวงการสื่อมวลชน 
เช่น
        ไปไม่ถึงดวงดาว (ทำไม่สำเร็จ ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คิดไว้)
        มองต่างมุม (แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปผู้อื่น)

        2. สำนวนที่เกิดจากวงการเมือง
เช่น
        โปร่งใส (ชัดเจน  ไม่มีลับลมคมใน)
        น็อตหลุด (ยั้งไม่อยู่   พูดโพล่งออกมาหรือแสดงอารมณ์อย่างไม่สมควร)

        3. สำนวนที่เกิดจากวงการโฆษณา
เช่น
        ภาษาดอกไม้ (คำพูดที่ไพเราะ รื่นหู  พูดไปในทางที่ดี)
        มีระดับ (คุณภาพดี  มีมาตรฐานสูง)

        4. สำนวนที่เกิดจากวงการบันเทิง
เช่น
        แจ้งเกิด (เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหรือเป็นที่ยอมรับในวงการนั้น ๆ)
        คู่กัด (คู่ที่ไม่ถูกกัน  ไม่ลงรอยกัน)

        5. สำนวนที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ
เช่น
        เเกะดำ (Back Sheep ใช้หมายถึง คนชั่วในกลุ่มคนดี)
        แขวนอยู่บนเส้นด้าย (Hang by a Thread  ใช้หมายถึง  ตกอยู่ในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่ออันตราย)
        ลื่นเหมือนปลาไหล (Slippery as eel ใช้หมายถึง  (คน)ที่เชื่อถือได้ยากเพราะเป็นคนตลบตะแลง  พลิกแพลงกลับกลอก  หรือหลบเลี่ยงไปมาได้คล่องแคล่ว)
        ล้างมือ (Wash one’ s Hand of  ใช้หมายถึง  ปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบ  หรือเลิกเกี่ยวข้อง)
        สร้างวิมานในอากาศ (Build Castles in The Air  ใช้หมายถึง  ฝันหรือหวังในสิ่งที่ไม่วสามารถจะเป็นความจริงได้)

        6. สำนวนเกิดใหม่ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวัน  
- สำนวนสร้างใหม่
เช่น
        ขบเหลี่ยม (ไม่ลงรอยกัน  ขัดกัน  หักร้างกัน)
        ไทยเหลือง (พระที่ประพฤติตน ไม่เหมาะสม)
- สำนวนดัดแปลง
เช่น
        กิ้งก่าฟาดหาง (อาการเตะเพื่อทำร้ายฝ่ายตรงข้าม  ดัดแปลงจากชื่อท่ามวยไทย  จระเข้ฟาดหาง )
        นักกินเมือง (นักการเมืองที่มุ่งแต่จะหาประโยชน์เข้าตัวเอง  ดัดแปลงจากคำว่า  นักการเมือง)
        ยุค IMF  (ยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำต้องประหยัด  IMF  มาจากคำว่า International Monetary Found  ซึ่งเป็นชื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ)
- สำนวนที่เปลี่ยนบริบทการใช้
เช่น
        ชิงสุกก่อนห่าม (ตกรอบไปก่อนเวลาอันสมควร  ปกติใช้กับการที่หนุ่มสาวลักลอยได้เสียกันก่อนแต่งงาน  แต่นำมาใช้ในบริบทใหม่ทางการกีฬา)
        อุ้ม (ลักพาตัวไป เพื่อนำไปฆ่า  เปลี่ยนความหมายจากเดิมที่หมายถึง โอบ ยกขึ้น ยกขึ้นไว้กับตัว  หรือให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือ)
- สำนวนที่มาจากภาษาต่างประเทศ
เช่น
        ฮั้ว (สมยอมกันในการประมูลงานโดย บริษัทหนึ่งจะ นัดบริษัทอื่นๆ   ที่สนใจในการประมูลงานใดงานหนึ่งมาตกลงกัน  บริษัทนั้นจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้บริษัทอื่น ๆ เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นหลีกทางให้บริษัทตนเป็นผู้ประมูลได้  มาจากคำว่า  ฮั้ว ในภาษาจีน)
        ไฮโซ  ไฮซ้อ  ไฮซิ้ม  (ชนชั้นสูงหรือผู้มีเงิน  มีฐานะในวงสังคม  มีที่มาจากคุณหญิง คุณนายที่เป็นภรรยาหรือบุตรนักธุรกิจ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเสื้อสายจีน  และบางคนอาจมีลักษณะของความเป็นจีนอยู่  จึงมีการพูดล้อเลียน  ไฮซ้อ  ไฮซิ้ม   มาจากคำว่า  ไฮโซ รวมกับคำว่า  ซ้อ  และ ซิ้ม  ซึ่งเป็นภาษาจีน)
        เตะซีมะโด่ง (ให้พ้นจากตำแหน่ง  ปกติจะใช้ว่า  เตะโด่ง   ซีมะโด่ง  เป็นคำมาจากภาษาเขมรว่า  ซีมวยดอง  แปลว่า  กินหนึ่งครั้ง  เสียงพยางค์สุดท้ายใกล้เคียงกับคำว่า โด่ง  ในภาษาไทย  จึงนำมาใช้แทนคำว่า โด่ง)

ที่มา :
สำนวนที่เกิดขึ้นใหม่ : http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter5-5.html